การรับรสเปลี่ยนแปลง ความอ่อนล้า และการนอนหลับแปรปรวนเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำ บัด แต่ละอาการส่งผลให้เด็กป่วยมีการเคลื่อนไหวของร่างกายและการทำหน้าที่ต่าง ๆ ลดลง เนื่องจากทั้งสามอาการเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันจึงมีลักษณะเป็นกลุ่มอาการ อาจจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกิจกรรมของเด็กป่วยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการศึกษาเรื่องนี้การ วิจัยแบบหาความสัมพันธ์เชิงทำนายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาอำนาจการทำนายของการรับรสเปลี่ยนแปลงความอ่อนล้า และอาการนอนหลับแปรปรวนต่อความสามารถในการทำหน้าที่ของเด็กป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยใช้แนวคิดกลุ่มอาการของฮอคเคนเบอร์รี่และฮูค (2007) เป็นกรอบแนวคิดการวิจัย กลุ่มตัวอย่างคือ เด็กโรคมะเร็งอายุ 8-15 ปี ที่เข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลพุทธชินราช และโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2557 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 จำนวน 77 ราย เลือก กลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลคือ1) แบบประเมินการเปลี่ยนแปลงการรับรสของผู้ป่วย 2) แบบประเมินอาการอ่อนล้าของเด็กป่วย 3) แบบประเมินอาการนอนหลับแปรปรวนของเด็กป่วยและ 4) แบบประเมินการทำกิจกรรมของเด็กป่วย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัย พบว่า การรับรสเปลี่ยนแปลง ความอ่อนล้า และการนอนหลับแปรปรวน สามารถร่วมกันอธิบายความสามารถในการทำหน้าที่ของเด็กป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดได้ร้อยละ 56.9 (R2= .569, p<.05) โดยที่ความอ่อนล้าสามารถทำนายความสามารถในการทำหน้าที่ดีกว่าการนอนหลับแปรปรวน และการรับรสเปลี่ยนแปลง (ßf = -.535, p<.001; ßsd= -.215, p<.05; ßtc =-.182, p<.05) ผลการวิจัยนี้ช่วยให้พยาบาลมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอิทธิพลของการรับรสเปลี่ยนแปลงความอ่อนล้าและการนอนหลับแปรปรวน ต่อความสามารถในการทำหน้าที่ของเด็กโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด และสามารถนำไปใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการกับอาการรับรสเปลี่ยนแปลง ความอ่อนล้า และการนอนหลับแปรปรวนเพื่อลดผลกระทบของอาการทั้งสามต่อความสามารถในการทำหน้าที่ของเด็กโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดต่อไป