ชื่อเรื่อง : การปรับปรุงพฤติกรรมการรับประทานลาบดิบของชาวบ้าน (กรณีศึกษาหมู่บ้านฮ่องกอก ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จ.ลำพูน) ชื่อผู้วิจัย : รองศาสตราจารย์ ดร.สาคร พุทธปวน รองศาสตราจารย์ชลอศรี แดงเปี่ยม อาจารย์จำนงค์ พุทธปวน อาจารย์สารรีย์ ขันพล บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ชาวบ้านมีความรู้ว่า การรับประทานลาบดิบอาจจะมีพยาธิและเป็นผลเสียต่อร่างกาย และต้องการให้ชาวบ้านปรับปรุงพฤติกรรมการรับประทานลาบดิบเป็นลาบสุก รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ประชากรที่ศึกษา ได้แก่ ประชาชนในหมู่บ้านฮ่องกอก ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกเก็บอุจจาระไปตรวจหาพยาธิ ดำเนินการให้ความรู้ประชุมกลุ่มเพื่อหาเหตุผลที่แท้จริงในการรับประทานและแนวทางแก้ไข มีการติดตามสนับสนุนและเก็บข้อมูลหลังดำเนินโครงการ การวิเคราะห์ข้อมูล เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นหลัก และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณประกอบ ผลการวิจัย พบว่าประชาชนนิยมรับประทานลาบดิบ เพราะเป็นประเพณี รับประทานมานาน รสชาดหวานอร่อย ผลการตรวจอุจจาระพบว่าประชาชนยังเป็นพยาธิแม้จะรับประทานยาถ่ายพยาธิเป็นประจำ การประชุมกลุ่มดำเนินไปด้วยดี ทุกคนมีความรู้เพิ่มขึ้นหลังการสอน และมีการนำความรู้ไปปฏิบัติมีการแนะนำบุคคลในครอบครัว เพื่อนบ้าน มีประชาชน 72 คน เลิกรับประทานลาบดิบ ร้อยละ 82.80 ต้องการให้หมู่บ้านฮ่องกอกเป็นหมู่บ้านปลอดลาบดิบ และร้อยละ 100.00 จะเข้าร่วมโครงการถ้าหากมีการก่อตั้งโครงการส่งเสริมสุขภาพพฤติกรรมการรับประทาน โดยให้เหตุผลว่าเป็นโครงการที่ดีต่อชาวบ้านทุกคนและหมู่บ้าน จะได้ไม่มีใครมาชักชวนให้รับประทานลาบดิบอีก ไม่ต้องการให้เด็กรับประทานลาบดิบและไม่เสียเวลารักษาโรคพยาธิ ตลอดจนประหยัดค่ารักษาพยาบาล การวิจัยครั้งนี้นอกจากจะได้ข้อมูลพื้นฐาน ได้แนวทางการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรม การรับประทานลาบดิบแล้ว ยังได้มีการรวมพลังชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการรับประทานลาบดิบ วิธีการเช่นนี้สามารถนำไปประยุกต์ในหมู่บ้านอื่น ตำบลอื่น จังหวัดอื่นได้อีกด้วย